11 สาเหตุของอาการผมร่วง…รีบดูแลก่อนสาย จนทำให้คุณคิดถึงผม

เรียบเรียงโดย
ภญ.ยุวรินทร์ สิริธนันต์ชัย
เภสัชกรประจำร้านเฮลธิแมกซ์

           ภาวะผมร่วง ผมบาง แม้ว่าจะไม่ส่งผลต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน แต่พบว่าเป็นภาวะที่ส่งผลต่อความมั่นใจหรือแม้กระทั่งคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีภาวะผมร่วง ผมบางได้ โดยทั่วไปผมมีการหลุดร่วงเฉลี่ยประมาณ 50-100 เส้นต่อวัน แต่จะมีการงอกขึ้นมาแทนที่ในรูขุมขนของเส้นผมเดิม อย่างไรก็ตามหากอาการผมร่วงเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและไม่มีการงอกใหม่ขึ้นทดแทน หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกวิธีหรือแก้ไขได้ตรงกับสาเหตุอาจทำให้ผมที่หนาบางลง จนอาจถึงขั้นศีรษะล้านได้ ซึ่งภาวะผมร่วงอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุดังนี้

           1.การใช้สารเคมีต่าง ๆ กับเส้นผมหรือหนังศีรษะ เช่น สเปรย์จัดแต่งทรงผม น้ำยาย้อมผม น้ำยายืดหรือดัดผม รวมถึงการใช้ความร้อนในการจัดแต่งทรงผมเป็นประจำอาจทำให้เกิดการขัดขวางการเจริญของเส้นผม และอาจก่อให้เกิดการอักเสบระคายเคืองของหนังศีรษะ จนเป็นสาเหตุให้ผมหลุดร่วงได้

           2.ผมร่วงศีรษะล้านจากพันธุกรรม มักพบไนเพศชายเกิดจากเอ็นไซม์ 5-อัลฟา รีดักเทสเปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนไปเป็นฮอร์โมนดีเอชทีซึ่งส่งผลให้เซลล์รากผมหดตัวและอ่อนแอลงจนหลุดร่วงในที่สุด อย่างไรก็ตามผมร่วงจากสาเหตุนี้สามารถพบได้ในเพศหญิงเช่นกัน

           3.การเสียสมดุลของฮอร์โมนเพศ เช่น การลดลงของเอ็นไซม์อะโรมาเทสซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงจากภาวะวัยทอง หรือการเกิดเนื้องอกบางชนิดของรังไข่ส่งผลให้เกิดการสร้างฮอร์โมนเพศชายมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนเพศหญิงจากการตั้งครรภ์ หรือการรับประทานยาคุมกำเนิดก็เป็นสาเหตุให้เกิดอาการผมร่วงได้เช่นกัน

           4.ภาวะผมร่วงหลังการตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดจากการลดลงของฮอร์โมนบางชนิด อาจพบอาการผมร่วงได้ตั้งแต่ช่วงหลังคลอดไปแล้ว 3-4 เดือน ในบางคนอาจกลับมาเป็นปกติในเวลาไม่นาน แต่ในบางคนอาจมีอาการร่วงยาวนานได้เป็นปี อย่างไรก็ตามภาวะผมร่วงหลังคลอดบุตรมักดีขึ้นได้เองจนกลับเป็นปกติได้แม้ไม่ได้รักษา

           5.โรคบางอย่าง เช่น โรคไทรอยด์ โลหิตจาง ภาวะการมีถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS)  เป็นต้น หรือภาวะความเจ็บป่วยบางอย่างก็อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดการหลุดร่วงของเส้นผมได้ เช่น การมีไข้สูง การผ่าตัด อุบัติเหตุ หรือการเจ็บป่วยเรื้อรังบางประเภท ซึ่งบางกรณีเมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรือเมื่อร่างกายกลับสู่สภาวะปกติ ผมก็อาจจะมีการงอกใหม่ได้

           6.การขาดสารอาหารหรือการอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก รวมถึงการลดน้ำหนักอย่างหักโหม น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเส้นผม เช่น โปรตีน วิตามินบี ธาตุเหล็ก สังกะสี เป็นต้น  ในกรณีนี้การได้รับแร่ธาตุ วิตามิน หรือโปรตีนเสริมทดแทน ผมก็จะงอกและกลับมาเป็นปกติได้

           7.ภาวะผมร่วงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาสิวบางชนิด ยาเคมีบำบัด ยาโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เช่น กลุ่ม Beta-blockers เป็นต้น

           8.ความเครียดและความกดดันทางอารมณ์ นอกจากเป็นสาเหตุให้ผมร่วงแล้วยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง การทำงานของระบบภูมิต้านทานร่างกายลดลง นอกจากนี้ภาวะความเครียดสะสมยาวนานยังสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งอีกด้วย

           9.โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) เกิดจากการแปรปรวนของภูมิคุ้มกันทางผิวหนัง เกิดได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง อาการผมร่วงเป็นหย่อมจะมีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรี อาจร่วงทีละวง หรืออาจจะร่วงหลายวงพร้อมกัน สามารถหายได้เอง แต่ในบางกรณีที่มีอาการรุนแรง เช่น มีการร่วงทั่วทั้งศีรษะมักไม่หายเองต้องได้รับการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ

           10.โรคดึงผมตนเอง อาจเกิดขึ้นโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว พบได้ในทุกเพศทุกวัย สามารถเกิดได้กับทุกบริเวณของร่างกายที่มีผมหรือขนที่ยาวในขนาดที่สามารถดึงออกได้ เช่น ผม ขนตา และหัวหน่าว เป็นต้น ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

           11.อายุที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการผมร่วงหรือผมบางได้

ในการรักษาภาวะผมร่วง ผมบาง มีหลายวิธีด้วยกันขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรง เช่น การใช้ยารับประทาน การใช้ยาทาบางชนิด หรือแม้กระทั่งการปลูกถ่ายรากผม เป็นต้น อย่างไรก็ตามเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตรงกับสาเหตุของโรคดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงควรได้รับคำแนะนำและการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นอย่ารอให้สายจนผมหายไปแล้วค่อยคิดถึง!!!

Leave a comment