World Diabetes Day 2021

เรียบเรียงโดย
ภญ.กาญจนาพร เด่นกีรติ
เภสัชกรประจำร้านเฮลธิแมกซ์

           ปัจจุบันประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ด้วยสภาพร่างกายที่เสื่อมตามวัย สภาวะความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ร่วมกับการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ทำให้โรคเรื้อรังกลายเป็นปัญหาสุขภาพที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเบาหวาน ทางสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติและองค์การอนามัยโลก ได้คำนึงถึงอุบัติการณ์ของโรคเบาหวาน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก จึงได้จัดตั้งวันเบาหวานโลกขึ้นมา โดยกำหนดให้ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี แม้ว่าโรคเบาหวานจะไม่ได้ส่งผลให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตอย่างทันทีทันใด แต่หากร่างกายมีน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการดูแลหรือรักษาอย่างถูกวิธีอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแก่ร่างกายตามมาได้ เพื่อจะได้ป้องกันตนเองและคนที่รักจากโรคเบาหวาน เรามาเรียนรู้และทำความเข้าใจกับโรคเบาหวานให้มากขึ้นกันนะคะ

โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง

ประเภทของโรคเบาหวานแบ่งเป็น 4 ชนิดตามสาเหตุของการเกิดโรค

1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากเบต้าเซลล์ที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินขึ้นได้ ส่วนใหญ่พบในคนอายุน้อย รูปร่างไม่อ้วน มีอาการปัสสาวะมาก กระหายน้ำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ซึ่งในบางกรณีพบภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน

2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด พบประมาณร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากตับอ่อนสร้างอินซูลินได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือ เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน มักพบในคนอายุ 30 ปีขึ้นไป รูปร่างท้วมหรืออ้วน

3. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นเบาหวานที่ตรวจพบครั้งแรกขณะตั้งครรภ์

4. โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ เป็นโรคเบาหวานที่มีสาเหตุชัดเจนที่ทำให้ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ เช่น โรคเบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน จากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ จากยา จากการติดเชื้อ จากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

อาการของโรคเบาหวาน

           ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ปัสสาวะบ่อยและมาก หิวบ่อย กินจุ คอแห้ง กระหายน้ำ น้ำหนักลด เป็นแผลง่ายและหายยาก คันตามผิวหนัง ตามัว ชาปลายมือปลายเท้า

การวินิจฉัยโรคเบาหวาน ทำได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งใน 4 วิธี ดังต่อไปนี้

1. ผู้ที่มีอาการของโรคเบาหวานชัดเจนคือ หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยและมาก น้ำหนักตัวลดลงโดยที่ไม่มีสาเหตุ สามารถตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร ถ้ามีค่า ≥ 200 มก./ดล. ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน

2. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดตอนเช้าหลังอดอาหารมากกว่า 8 ชั่วโมง มีค่า ≥ 126 มก./ดล. ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับคนทั่วไปที่มาตรวจสุขภาพ และผู้ที่ไม่มีอาการ

3. การตรวจความทนต่อกลูโคส ถ้าระดับน้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมง หลังดื่มน้ำตาล ≥200 มก./ดล. วินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน

4. การตรวจวัดระดับ A1C ถ้าค่า ≥6.5% ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน

           สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการของโรคเบาหวานชัดเจน ควรตรวจเลือดซ้ำโดยวิธีเดิมอีกครั้งหนึ่งต่างวันกันเพื่อยืนยันและป้องกันความผิดพลาดจากการตรวจห้องปฏิบัติการ

มาเรียนรู้กับชนิด อาการและการวินิจฉัยโรคเบาหวานแล้ว เรียนเยอะๆ อาจจะเหนื่อย แต่ถ้าเรียนรู้กันไปเรื่อยๆ อาจจะรัก^^ ด้วยรักและห่วงใยจากแอดมินเฮลธิแมกซ์นะคะ

World Diabetes Day 2022

ช้อปสุขภาพดี 24 ชั่วโมง

LINE OA @HealthyMax

Leave a comment